เขื่อนสิรินธร

         

    

 

เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์นานับปการต่อการพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ทั้งทางด้านการชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในประเทศให้เกิดประโยชน์ สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน

         ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อย อันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตัวเขื่อน มีความสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 142.2 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ 3 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์

         การก่อสร้างโครงการ ได้เริ่มในเดือนมิถุนายน 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนาม เขื่อนว่า “เขื่อนสิรินธร” การก่อสร้างตัวเขื่อน และ ระบบส่งไฟฟ้าระยะแรกแล้วเสร็จในปี 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนสิรินธร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2515 สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มอบเขื่อนสิรินธร ให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อไป

                   

ประโยชน์ของเขื่อนสิรินธร เป็นโครงการอเนกประสงค์ จึงสามารถอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในการพัฒนา ประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้

- การผลิตพลังงานไฟฟ้า สามารถใช้พลังน้ำมาผลิตพลังงานได้เฉลี่ยปีละ 90 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ขยาย ขอบเขตการจ่ายกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปได้กว้างขวางขึ้น
- การชลประทาน สามารถส่งน้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำ ไปใช้ในระบบชลประทาน ได้เป็นพื้นที่ 152,000 ไร่ จึงช่วยให้เกษตรกรในแถบนี้ ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี
- บรรเทาอุทกภัย เขื่อนสิรินธร สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลบ่ามาตามแม่น้ำลำโดมน้อย ไว้ได้เป็นจำนวน มาก จึงช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วม และช่วยให้แม่น้ำมูล สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ได้สะดวกยิ่งขึ้น
- การประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่โดย กฟผ. ร่วมมือ กับกรมประมง นำพันธ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ โดย กฟผ. ร่วมมือกับกรมประมงนำพันธุ์ปลามาปล่อย อาทิ ปลายี่สก ปลานิล ปลาไน ฯลฯ และกุ้งก้ามกรามทำให้ราษฎรมีอาชีพหลักเพิ่มขึ้น
- การคมนาคม สามารถใช้อ่างเก็บน้ำเป็นเส้นทางเดินเรือติดต่อค้าขาย และคมนาคมขนส่งผลผลิต ออกสู่ตลาดได้สะดวกอีกทางหนึ่ง
- การท่องเที่ยว ความสวยงามสงบร่มรื่นของภายในบริเวณเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้ นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้าน ธุรกิจท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามไปด้วย

                     

สถานที่น่าสนใจ

          สวนสิรินธร  ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนสิรินธรจังหวัดอุบลราชธานี กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 36 พรรษา กฟผ. ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อ กฟผ. มาโดยตลอด นับแต่ได้พระราชทาน พระนามาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และได้เสด็จ พระราชดำเนินเปิดเขื่อน นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมในช่วงปฏิบัติพระราช ภารกิจ และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย

          ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 3 รอบ กฟผ. จึงได้ก่อสร้างสวนสิรินธรขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ กฟผ. ได้เริ่มงานสำรวจสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นสวน เฉลิมพระเกียรติ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2533 โดยเลือกบริเวณฝั่งซ้ายของสันเขื่อนสิรินธร ริมอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ การออกแบบสวน ได้ยึดหลักในการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเดิม ไว้ให้มากที่สุด ใช้วัสดุอุปกรณ์ตกแต่งสถานที่ให้กลมกลืนกับพื้นที่เดิม รวมทั้งใช้งบประมาณการก่อสร้าง และการบำรุงรักษาให้ประหยัดที่สุดด้วย

          นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยราชการพ่อค้า และประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีปลูกต้นไม้เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย กฟผ. เริ่มดำเนินการก่อสร้างสวนสิรินธรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมาจนกระทั่งแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2534

          จุดประสงค์สำคัญในการจัดทำสวนสิรินธรนี้ เพื่อจัดเป็นสวนเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชม เป็น การส่งเสริมการท่องเที่ยว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และให้ผู้เข้าชมได้ระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกร องค์ประกอบ สำคัญของสวนสิรินธร นอกจากประกอบด้วยพืชพรรณไม้แล้วยังเน้นการปลูกพันธุ์ไม้ตัดแต่งเป็นอักษร “สธ” ประติมากรรมรูปช้าง 3 เชือก เล่นดนตรีไทย รวมทั้งคำประพันธ์จารึกไว้ตามจุดต่างๆ ของสวน ดังนี้

เพราะครูพักลักจำท่านกำหนด   พอภูมิหมดสิ้นศิลป์ก็สิ้นท่า
จำซ้อมซอรออาจารย์จะผ่านมา เพื่อกราบบาทวันทาต่อเพลงซอ
         
          เจ้าช้างน้อยอ้วนพีตีระนาด ทำวางมาดอวดให้รู้มีครูสอน
ระรัวไหวอยู่ในสวนสิรินธร พ่องางอนขอถามนิดลูกศิษย์ใคร
         
          นิ้วป้อมกลมพรมมวนบนขลุ่ยน้อย เพลงเสริมสร้อยสดุดีศรีสมัย
กล่อมสวรรค์สรรเสริญเทพพระองค์ใด หรือเจ้าฟ้าพระองค์ไหนจะกรายมา

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดสวนสิรินธรเมื่อ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2534 นับได้ว่าเป็นอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ กฟผ. และจังหวัดอุบลราชธานีสืบต่อไปชั่วกาลนาน

**   การเดินทางตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 แยกขวาที่กิโลเมตร 71 ไปอีก 500 เมตร เป็นเขื่อนหินแกนดินเหนียว

เว็บไซต์ในอุบลที่น่าสนใจ