หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์

 

อาคารทรงไทย สถาปัตยกรรมอีสานประยุกต์ ที่สูงเด่นเป็นสง่าอยู่บนถนนแจ้งสนิทนี้ เรียกว่า "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม กาญจนาภิเษก อุบลราชธานี" ครับ ชาวอุบลฯ หลายๆ ท่านคงจะได้ไปเยือน ศูนย์ศิลป์ แห่งนี้ ในโอกาสงานเลี้ยง งานแต่งงาน สังสรรค์ งานประชุม สัมมนาต่างๆ หรือแม้กระทั่งได้เข้าพักที่นี่มาแล้ว

          พาไปเที่ยวชม ศูนย์ศิลป์ แต่คราวนี้ เราจะไปชม หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ กัน

          หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ อยู่ชั้นล่างของ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ท้องถิ่น ของชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสาน เป็นศูนย์ส่งเสริมสร้างสำนึกท้องถิ่น ในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอุบลราชธานี ด้วยความเชื่อที่ว่า

          "หอวัฒนธรรม คือ รากฐานความมั่นคงของชาติ ความอ่อนแอทางวัฒนธรรม เป็นปัจจัยไปสู่ความเสื่อมสลายของชาติ หอวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต"

ในเวลาสั้นๆ ที่ท่านเดินชม ประมาณ 1 ชั่วโมง ท่านจะได้รู้จักเมืองอุบลฯ อย่างละเอียด ทุกแง่ทุกมุม ไล่มาตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงปัจจุบัน การเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ได้ถูกถ่ายทอดมาไว้ที่นี่หมด แล้วอย่างนี้ จะพลาดได้อย่างไร

          เมื่อท่านเดินทางมาถึงศูนย์ศิลป์แล้ว สังเกตุจะมีทางรถขึ้นไปชั้น 2 ตรงส่วนนั้น จะเป็นส่วนต้อนรับของศูนย์ศิลป์ครับ เราไม่ต้องขึ้นไป ให้เดินเลี่ยงไปด้านข้างของทางขึ้น จะด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ จะเห็นประตูทางเข้าของ หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ เข้าไปได้เลย ไม่เสียค่าผ่านประตูแต่อย่างใด และพื้นที่ส่วนที่อยู่ระหว่างประตูทางเข้า ซ้าย-ขวา นั้น เรียกว่า "ห้องภูมิเมือง"

 

ห้องภูมิเมือง แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแม่น้ำโขง-ชีมูล มีโดมจำลองสภาพทางภูมิศาสตร์ด้วยครับ อยากรู้จักพื้นที่ไหน กดปุ่มได้เลย จะมีไฟแสดงตำแหน่งให้ชม

จากนั้น เดินไปทางด้านขวามือของทางเข้า ที่นี่จะเป็นห้องภูมิราชธานี

          ห้องภูมิราชธานี ท่านจะได้พบกับร่องรอยทางอารยธรรมของเมือง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงการตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ยุคปฏิรูปการปกครอง ยุคประชาธิปไตย ส.ส.อีสาน เสรีไทยในอีสาน จนถึงอุบลราชธานีในปัจจุบัน

ห้องภูมิปัญญา ห้องนี้ใหญ่หน่อย เนื้อหาเยอะมาก ทั้งส่วนบอร์ดนิทรรศการ และรูปจำลอง ข้าวของเครื่องใช้จริงๆ มากมาย แสดงภาพวิถีชีวิตของชาวอุบลราชธานี อาทิ อาหารการกิน ยารักษาโรค สมุนไพรพื้นบ้าน เฮือนอีสานและหมู่บ้านอีสาน ผ้าและการแต่งกาย หัตถกรรมพื้นบ้าน (การทำไห การหล่อโลหะบ้านปะอาว) ดนตรีอีสาน หมอลำ เพลงกล่อมเด็ก และคนดีศรีอุบล ในแขนงต่างๆ ถือว่าเป็นการจบนิทรรศการที่สมบูรณ์แบบครับ เพราะที่บอร์ดของคนดีศรีอุบลนี้ ตรงกลาง จะแทรกด้วยกระจกบ้านใหญ่ เวลาเราไปยืนแล้ว เงาของเราจะอยู่ตรงกลางของคนในภาพ อาจเป็นสัญญาที่เราให้ไว้ต่อกัน ว่า
พวกเราจะเติบโตเป็น..... คนดีศรีอุบล

เว็บไซต์ในอุบลที่น่าสนใจ